
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เผยภาพหนังสือของราชเลขาธิการถึงนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดวันสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 25 ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2560 โดยวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งเป็นวันที่สำคัญที่สุดของการพระราชพิธี กำหนดวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560

กำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
25 ต.ค. 60 ออกพระเมรุ
26 ต.ค. 60 ถวายพระเพลิง
27 ต.ค. 60 เก็บพระอัฐิ
28 ต.ค. 60 ออกทุกข์
29 ต.ค. 60 เชิญพระอัฐิ
23-28 ต.ค. 2560 เป็นวันหยุดราชกาล … จึงหยุดยาว 9 วัน
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.59 ที่ผ่านมา ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Yongyut Laksap ได้มีการโพสต์ภาพพิธีปักหมุดทำผังเพื่อก่อสร้างพระเมรุมาศฯ ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งมีข้อความระบุว่า..

“ถึงจะรู้สึกเศร้าปานใด แต่คือหน้าที่ก็ต้องทำให้ดีที่สุดครับ..
….เพราะเป็นหน้าที่ของเรา..กรมศิลปากร”
ทั้งนี้พิธีปักหมุดการก่อสร้างพระเมรุมาศฯ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บริเวณท้องสนามหลวง โดยมีพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิธี

โดยพิธีเริ่มต้นขึ้นในเวลา 15.59 น. ประธานจุดธูปเทียน บูชาเครื่องสังเวยที่โต๊ะเครื่องบวงสรวง พระมหาราชครู พิธีศรีวิสุทธิคุณวิบูลเวทย์บรมหงส์ พรหมพงษ์พฤฒาจาริย์ อ่านโองการบวงสรวง ประธานโปรยข้าวตอกดอกไม้ที่เครื่องสังเวย จากนั้นประธานและผู้ปักหมุดเดินไปประจำหลัก ในเวลา 16.19 น. พราหมณ์เป่าสังข์แตร ให้สัญญาณเริ่มการปักหมุดพระเมรุมาศ โดยใช้ไม้มงคลปักหมุดจำนวน 9 จุด ประกอบด้วย หมุดหลักโดยพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ปัก และหมุดรองอีก 8 จุดได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปักหมุดหลักที่ 2 ราชเลขาธิการ ปักหมุดหลักที่ 3 เลขาธิการพระราชวังปักหมุดหลักที่ 4 รองราชเลขาธิการ ปักหมุดหลักที่ 5 ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปักหมุดหลักที่ 6 ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปักหมุดหลักที่ 7 ปลัดกรุงเทพมหานคร ปักหมุดหลักที่ 8 และนายเดโช สวนานนท์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรปักหมุดหลักที่ 9


สำหรับผังในการก่อสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้กำหนดตำแหน่งอ้างอิงโดยพิจารณาจุดกึ่งกลางของยอดพระเมรุมาศเป็นจุดหลักโดยจุดกึ่งกลางกำหนดจากจุดตัดของแนวแกนสำคัญ 2 แกน ได้แก่ แกนทิศเหนือถึงทิศใต้ หรือแกนในแนวขนานกับความยาวของท้องสนามหลวง ซึ่งสัมพันธ์กับแนวกึ่งกลางของพระศรีรัตนเจดีย์ ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และแกนทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกหรือแกนในแนวตั้งฉากกับแกนเหนือใต้ สัมพันธ์กับแนวกึ่งกลางพระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ส่วนหมุดประกอบอีก 8 หมุดคือตำแหน่งกึ่งกลางยอดบริวารของพระเมรุมาศ ได้แก่ยอดซ่าง 4 ยอด ยอดมณฑปน้อย 4 ยอด รวมตำแหน่งหมุดทั้งหมด 9 หมุด
loading...

Cr : ที่มา : siamvariety.com